จงใส่ใจโรคมะเร็ง

โรคมะเร็ง

โรคมะเร็ง เป็นโรคร้ายที่เป็นศัตรูของมนุษย์ ในสถานการณ์ปัจจุบัน โรคมะเร็งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก

คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งรายใหม่ วันละ 381 คน หรือ 139,206 คนต่อปี และเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง วันละ 230 คน หรือ 84,073 คนต่อปี หรือ ชั่วโมงละ 10 คน

มะเร็งที่พบบ่อยมากที่สุดในคนไทย 5 อันดับ ประกอบด้วย มะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก

ขอขอบคุณ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สปสช และ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่เผยแพร่ความรู้เรื่อง โรคมะเร็ง ท่านสามารถคลิกเลือกโรคมะเร็งที่สนใจได้

และ ต้องขอขอบคุณ โรงพยาบาลเวชธานี ที่เผยแพร่ความรู้เรื่อง Cancer Vaccine นวัตกรรมใหม่ของการรักษามะเร็ง

มะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี

มะเร็งปอด

มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

มะเร็งเต้านม

มะเร็งปากมดลูก

Cancer Vaccine นวัตกรรมใหม่ของการรักษามะเร็ง

Cancer Vaccine

นพ.วิกรม เจนเนติสิน

อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา
ปรึกษาแพทย์ออนไลน์คลิก

CANCER VACCINE นวัตกรรมใหม่ของการรักษา

มะเร็งถือเป็นโรคที่มีสถิติการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย และในแต่ละปีมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดย 90 % ของการเกิดโรคมะเร็งเกิดจากปัจจัยภายนอกและการปฏิบัติตัวให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง เช่น อาหารการกิน ความเครียด การติดเชื้อไวรัส การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา เป็นต้น ดังนั้น การรักษามะเร็งจึงมีการพัฒนาเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้นและเกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วยน้อยที่สุด

นพ.วิกรม เจนเนติสิน อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า การรักษามะเร็งมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัจจุบันในประเทศไทยได้มีการคิดค้นการรักษามะเร็งด้วย “CANCER VACCINE เฉพาะบุคคล” ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อการรักษามะเร็งที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นการรักษาโดยใช้ข้อมูลการกลายพันธุ์ของมะเร็งที่ตรวจพบในผู้ป่วยมาสกัดเป็นวัคซีน เพื่อฉีดกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อการกลายพันธุ์ของมะเร็งนั้น ๆ และมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับมะเร็งมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีการกลายพันธุ์ของมะเร็งที่ต่างกัน

การรักษามะเร็งด้วย CANCER VACCINE เฉพาะบุคคล จะเริ่มต้นจากการนำชิ้นเนื้อมะเร็งของผู้ป่วยมาถอดรหัสทางพันธุกรรม เพื่อตรวจหาการกลายพันธุ์ของมะเร็ง จากนั้นนำมาผลิตเป็น CANCER VACCINE และฉีดกลับเข้าในร่างกาย ซึ่งหลังฉีดวัคซีนไปแล้ว จะไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิด T Cell ให้รู้จักการกลายพันธุ์ของมะเร็งอย่างจำเพาะ และช่วยชะลอหรือหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ช่วยลดขนาดก้อนมะเร็ง, ป้องกันการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง หรือกำจัดเซลล์มะเร็งที่ไม่ถูกฆ่าโดยการรักษาวิธีอื่น ๆ เช่น การผ่าตัด ฉายแสง หรือให้ยาเคมีบำบัด

การรักษาด้วย CANCER VACCINE สามารถใช้ร่วมกับการรักษามะเร็งด้วยวิธีการอื่นๆ ได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ได้แก่

การผ่าตัด เป็นการรักษาโรคมะเร็งแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะการรักษามะเร็งในระยะเริ่มต้น เนื่องจากก้อนและการกระจายยังอยู่ในบริเวณเดียวกัน จึงสามารถรักษาให้หายขาดได้จากการผ่าตัดที่เหมาะสม

การฉายรังสี เป็นการรักษามะเร็งโดยใช้คลื่นเอกซเรย์ขนาดสูง หรือ คลื่นกัมมันตรังสี เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตและฆ่าเซลล์มะเร็ง แต่ยังมีข้อจำกัดของการรักษาเนื่องจากมีมะเร็งไม่กี่ชนิดที่ตอบสนองต่อการฉายรังสี และมีความจำเพาะค่อนข้างต่ำทำให้เนื้อเยื่อข้างเคียงได้รับผลกระทบ และการฉายรังสีบริเวณกว้างอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งในตำแหน่งใหม่ที่โดนรังสีอีกด้วย

ยาเคมีบำบัด หรือ คีโม เป็นการรักษาที่มีความจำเพาะต่ำ แม้ยาจะออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งแต่ก็ทำลายเนื้อเยื่อดีด้วย ผลข้างเคียงจะเกิดความไม่สุขสบายแก่ผู้ป่วย แต่ก็มีข้อดีของยาเคมีบำบัดคือ ตัวยาจะกระจายไปตามกระแสเลือด จึงสามารถออกฤทธิ์ได้ทั่ว เหมาะกับมะเร็งระยะแพร่กระจายที่ไม่สามารถระบุตำแหน่งหรือผ่าตัดออกได้หมด

ฮอร์โมนบำบัด เป็นการให้ฮอร์โมนหรือสารบางชนิด เพื่อยับยั้งฮอร์โมนที่ไม่พึงประสงค์ เนื่องจากฮอร์โมนบางชนิดสามารถกระตุ้นมะเร็งได้ การรักษาด้วยวิธีนี้จึงปลอดภัย ผลข้างเคียงน้อยแต่สามารถรักษาโรคมะเร็งได้ไม่กี่ชนิด

ยามุ่งเป้า เป็นการให้ยารักษาที่จำเพาะต่อการกลายพันธุ์ของมะเร็ง มีประสิทธิภาพจำเพาะเฉพาะในรายที่มีการกลายพันธุ์ตรงกับตัวยา อาการข้างเคียงไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับยาเคมีบำบัด

ภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการให้ยาหรือสารเพื่อไปปรับระบบภูมิคุ้มกัน โดยมีผลกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่ออกฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง และลดการทำงานของภูมิคุ้มกันบางส่วน

ทั้งนี้ แนวทางการรักษามะเร็งที่เหมาะสมของแต่ละบุคคลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทีมแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ในแบบสหสาขาวิชา ร่วมกันดูแลผู้ป่วยแต่ละรายอย่างเหมาะสม  เพื่อร่วมวิเคราะห์หาแนวทางที่เหมาะสม ได้ผลดี และเกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วยน้อยที่สุด

CA Lung and Cancer Vaccine

Cancer Vaccine ความหวังใหม่ของผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 4

มะเร็งปอด เกิดจากอุบัติการณ์ที่เซลล์ในเนื้อปอด มีการแบ่งตัวมากผิดปกติจนไม่สามารถควบคุมได้ และเติบโตลุกลามรวมกันจนเป็นเนื้องอก ขัดขวางการทำงานของปอด นอกจากนี้ ยังสามารถแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น ๆ ได้ เช่น ตับ สมอง กระดูก โดยความร้ายแรงของมะเร็งปอดขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง โดยทั่วไปแล้ว มะเร็งปอดในระยะเริ่มแรก มักไม่มีอาการแสดง แต่เมื่อโรคลุกลามแล้วอาจมีอาการไอเรื้อรัง และอาการอื่นๆ เช่น ไอเป็นเลือด, มีเสมหะ , มีไข้เรื้อรัง , เสียงแหบ , หายใจไม่สะดวก , เจ็บหน้าอก , เหนื่อยง่าย, น้ำหนักลด เป็นต้น

การรักษามะเร็งปอดระยะลุกลามมีดังนี้

• การผ่าตัด

• การฉายรังสี

• Chemotherapy

• Targeted therapy

• Immunotherapy

ปัจจุบันมีนวัตกรรมการรักษาใหม่คือ CANCER VACCINE เฉพาะบุคคล เป็นการรักษาโดยใช้ข้อมูลการกลายพันธุ์ของมะเร็งที่ตรวจพบของผู้ป่วยแต่ละรายมาสกัดเป็นวัคซีน เพื่อฉีดกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อเซลล์มะเร็งที่มีการกลายพันธุ์นั้นๆ และมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับมะเร็งมากขึ้น การรักษาด้วยวิธีนี้จะช่วยลดขนาดก้อนมะเร็ง, ป้องกันการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง และกำจัดเซลล์มะเร็งที่ไม่ถูกฆ่าโดยการรักษาวิธีอื่น ๆ ทั้งนี้ แนวทางการรักษามะเร็งที่เหมาะสมของแต่ละบุคคลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทีมแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ในแบบสหสาขาวิชา ร่วมกันดูแลผู้ป่วยแต่ละรายอย่างเหมาะสม เพื่อร่วมวิเคราะห์หาแนวทางที่เหมาะสม ได้ผลดี และเกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วยน้อยที่สุด

ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด และการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี สามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดมะเร็งปอดได้ หรือหากมะเร็งปอดในระยะแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม http://bit.ly/3XI44Hm

Cancer Avatar

Cancer Avatar ทางเลือกการรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลอย่างตรงจุด

ปัจจุบันมีการกระบวนการทดสอบการตอบสนองต่อยาก่อนที่จะใช้ในผู้ป่วยจริง เรียกว่า Cancer Avatar เป็นการตัดชิ้นเนื้อมะเร็งของผู้ป่วยมาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตและพัฒนาจนมีลักษณะคล้ายกับเซลล์มะเร็งที่อยู่ในร่างกาย ซึ่งเปรียบเสมือนว่าเซลล์มะเร็งนั้นเป็นตัวแทนมะเร็งของผู้ป่วยจริง ๆ จากนั้นจึงนำมาทดสอบกับยารักษาแต่ละสูตรเพื่อดูการตอบสนองของเซลล์มะเร็ง ก่อนเริ่มใช้ยากับผู้ป่วย

การใช้ประโยชน์จาก Cancer Avatar เน้นไปที่การรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม ที่การรักษาแบบมาตรฐาน เช่น การผ่าตัด การฉายแสดง หรือการให้ยาต้านมะเร็งสูตรทั่วไปไม่ได้ผล และอาจจำเป็นต้องใช้ยาสูตรใหม่ หรือนวัตกรรมการรักษาใหม่ที่ยังไม่ใช่วิธีมาตรฐาน ซึ่ง Cancer Avatar จะสามารถทดสอบสิ่งเหล่านั้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจและความแม่นยำในแนวทางการรักษาขั้นต่อไปได้ เช่น หากมียาเคมีบำบัดทางเลือก 10 สูตรที่สามารถเข้ากับพยาธิกำเนิดของโรคมะเร็งของผู้ป่วย แพทย์จะทดสอบประสิทธิภาพและการตอบสนองต่อยากับ Cancer Avatar จนสามารถคัดเลือกสูตรที่เหมาะสมกับรอยโรคของผู้ป่วยมะเร็งมากที่สุด โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาในการทดลองสูตรยาทั้ง 10 สูตร

อย่างไรก็ตาม เมื่อผลการทดสอบกับ Cancer Avatar ออกว่ามีการตอบสนองดี ก็จะตอบสนองในผู้ป่วยได้ตรงตามการทดสอบประมาณ 70 – 80 เปอร์เซ็นต์

อ่านเพิ่มเติม http://bit.ly/3ig7bWB

Precision Cancer Medicine and Multidisciplinary Team
Multidisciplinary Team Vejthani Hospital

Precision Cancer Medicine วิเคราะห์เซลล์มะเร็งเพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริง และการรักษาที่ตรงจุด

จากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในปี 2564 มีมากถึง 139,206 คนต่อปี และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 84,073 คนต่อปี โดยโรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับในคนไทย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก ซึ่งการรักษามะเร็งในปัจจุบันก็มีวิวัฒนาการที่ดีขึ้นทั้งในเรื่องของเทคโลยีการคัดกรอง การให้ยาเคมีบำบัด ที่สามารถลดผลข้างเคียงและได้รับการรักษาที่เฉพาะเจาะจงกับคนไข้แต่ละบุคคลมากขึ้น

นพ.วิกรม เจนเนติสิน อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยาและเคมีบำบัด โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า การรักษามะเร็งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการค้นหาสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งของแต่ละบุคคลว่าเกิดจากสาเหตุใด ซึ่งการค้นหาสามารถทำได้โดยการตรวจเซลล์มะเร็งของคนไข้ ว่าเซลล์ที่ผิดปกติจนทำให้เกิดเป็นมะเร็งเกิดขึ้นจากกลไกใด และยาชนิดใดที่จะสามารถยับยั้งกลไกที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ เราจะได้เลือกใช้ยาให้ถูกต้อง เป็นแบบเฉพาะบุคคลมากและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเราจะเรียกการรักษาแบบนี้ว่า Precision Cancer Medicine เพราะมะเร็งที่อวัยวะเดียวกัน อาจจะเกิดจากเซลล์มะเร็งที่มีกลไกการเกิดโรคคนละแบบได้

นพ.วิกรม กล่าวต่อว่า Precision Cancer Medicine คือการตรวจวิเคราะห์เซลล์มะเร็งที่จะได้ข้อมูลมากกว่า ชนิด ระยะ หรือหน้าตาของมะเร็ง แต่จะเป็นการตรวจแบบเจาะจงลงไปในระดับรหัสพันธุกรรมมะเร็ง ซึ่งแพทย์จะใช้การเจาะเลือด หรือชิ้นเนื้อผู้ป่วย นำไปตรวจวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ และนำไปวิเคราะห์บนฐานข้อมูลกลาง ที่เราเรียกว่า Big DATA ซึ่งจะสามารถบ่งชี้ถึงกลไกการเกิดโรค ที่มีความแตกต่างกันของแต่ละบุคคล ทำให้แพทย์สามารถเลือกใช้ยารักษามะเร็งที่เหมาะสม ลดหรือหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น ทำให้สามารถลดและหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่มีโอกาสเกิดขึ้นตั้งแต่แรกได้

“การรักษาแบบ Precision Cancer Medicine เราจะต้องนำข้อมูลรหัสพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งของคนไข้แต่ละรายที่ได้จากชิ้นเนื้อ ไปวิเคราะห์ผ่านเครื่องวิเคราะห์ยีน เพื่อดูข้อมูลความผิดปกติ และ การกลายพันธุ์ของยีน อย่างละเอียด แล้วนำข้อมูลไปวิเคราะห์เปรียบเทียบบนฐานข้อมูลกลางที่เราเรียกว่า Big DATA ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าคนไข้มีความผิดปกติที่เซลล์มะเร็งแบบไหนและเราจะสามารถให้การรักษาด้วยวิธีไหนจึงจะดีและเห็นผลมากที่สุด ทั้งนี้การรักษาจะต้องวิเคราะห์รวมไปถึงโรคประจำตัว ความกังวล และข้อกำหนดของคนไข้ด้วยว่ามีอะไรบ้าง เช่นบางคนอาจจะกลัวผมร่วง เราจะมีวิธีการรักษาแบบไหนที่ตอบโจทย์และได้ผลกับคนไข้รายนี้ ดังนั้นการรักษาแบบ Precision Cancer Medicine จึงเป็นการออกแบบมาเพื่อการรักษาแบบเฉพาะบุคคลอย่างแท้จริง”

นพ.วิกรม กล่าวอีกว่า เมื่อแพทย์ได้ทราบถึงสาเหตุที่สำคัญของการเกิดมะเร็งจากการตรวจ Precision Cancer Medicine แล้ว การวางแผนให้ยาในการรักษามะเร็งก็จะเป็นแบบเฉพาะเจาะจงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยวิธีการรักษา จะมีตั้งแต่

1. การให้ยาต้านฮอร์โมน (Hormonal Therapy) เป็นยาที่เข้าไปยับยั้งการทำงานและหรือการสร้างฮอร์โมนเพศ ซึ่งจะสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่ถูกกระตุ้นจากฮอร์โมนเพศได้ เป็นตัวอย่างของ precision cancer medicine ที่ใช้กันมานาน เพราะเป็นการใช้ยาที่ตรงกับสาเหตุของการเกิดโรคจริงๆ ปัจจุบันใช้อย่างแพร่หลายในมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย และ มะเร็งเต้านมในผู้หญิง เป็นต้น

2. การใช้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) หลักการใช้ยาเคมีบำบัดใน precision cancer medicine คือเราจะพยายามเลือกยาเคมีบำบัดที่เหมาะสมที่สุดกับโรคมะเร็งของคนไข้แต่ละคน โดยอาศัยข้อมูลทางรหัสพันธุกรรมมะเร็ง รวมถึงการตรวจวัดการตอบสนองของเซลล์มะเร็งต่อยาเคมีบำบัดแต่ละชนิดในห้องทดลอง (cancer avatar) ก่อนจะนำไปใช้กับผู้ป่วยจริง และหลักการสำคัญคือเลือกใช้ยาเคมีบำบัดกับคนไข้ที่จะได้ประโยชน์จากการให้ยาเคมีบำบัดจริงๆเท่านั้น ส่วนคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับยาเคมีบำบัดเนื่องจากไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ก็สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ยาเคมีบำบัดได้ ช่วยลดผลข้างเคียงที่ไม่จำเป็น โดยที่ประสิทธิภาพการรักษาไม่ได้ลดลง

3. การใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) จากผลการวิเคราะห์กลไกการเกิดโรคมะเร็งของคนไข้แต่ละคน ทำให้เราทราบว่ากลไกหรือการเปลี่ยนแปลงของรหัสพันธุกรรมมะเร็งใด ที่ทำให้เซลล์ปกติเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง เราก็จะเลือกใช้ยาที่ไปยับยั้งโดยตรงแบบจำเพาะที่กลไกนั้นๆ ทำให้รักษามะเร็งได้อย่างตรงจุด โดยไม่มีผลกับเซลล์ปกติ(หรือมีน้อยมาก) เพราะยาไปออกฤทธิ์เฉพาะที่ เฉพาะเซลล์มะเร็งที่มีรหัสพันธุกรรมที่ผิดปกติที่เป็นเป้าหมาย ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพสูง และลดผลข้างเคียงจากการรักษาได้มาก

4. การรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) กลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เซลล์มะเร็งเติบโตหรือลุกลาม คือกลไกการหลีกเลี่ยงการตรวจจับของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน และยับยั้งการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ การรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด หลักการคือตัวยาจะทำหน้าที่ไปเปิดสวิตซ์ให้ระบบภูมิคุ้มกันเข้าไปกำจัดเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนไข้คนไหนควรใช้การรักษาแบบนี้ คนไข้คนไหนจะตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ดี precision cancer medicine จึงเข้ามามีบทบาทในการคัดเลือกคนไข้ที่เหมาะสม โดยการตรวจหาตัวบ่งชี้สำคัญในเซลล์มะเร็งและเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อคาดคะเนการตอบสนองล่วงหน้าได้ เพื่อให้สามารถเลือกใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดให้คนไข้ได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพสูง คุ้มค่า และไม่เสียโอกาสในการรักษา

5. การรักษาด้วยเซลล์บำบัด (Cell therapy) ในปัจจุบันเราสามารถเสริมเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน ที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดเซลล์มะเร็งเสริมให้ผู้ป่วยได้ โดยเลือกเสริมให้เหมาะกับสภาพร่างกายของคนไข้แต่ละคนจริงๆ บางคนบกพร่องด้านจำนวน บางคนบกพร่องด้านคุณภาพ ซึ่งมีแนวทางการรักษาแตกต่างกัน อีกทั้งต้องเลือกเสริมเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่จำเพาะกับโรคมะเร็งของคนไข้แต่ละคน และแต่ละระยะอีกด้วย

6. การรักษาโดยวัคซีนมะเร็ง (Cancer Vaccine) เป็นนวัตกรรมใหม่ในการรักษามะเร็งที่เกิดขึ้นแล้ว โดยวัคซีนมะเร็งจะมีความจำเพาะกับเซลล์มะเร็งของคนไข้แต่ละคน เนื่องจากสกัดออกมาจากเซลล์มะเร็งของคนไข้แต่ละคนจริง ๆ เพื่อช่วยให้เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของคนไข้คนนั้นๆสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น ทำให้ช่วยชะลอหรือหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ ทำให้ลดขนาดของก้อนมะเร็ง ป้องกันการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง หรือ กำจัดเซลล์มะเร็งที่ไม่ถูกฆ่าโดยการรักษาวิธีอื่น เช่น การผ่าตัด ฉายแสง หรือให้ยาเคมีบำบัด

ดังนั้น การรักษาด้วยวิธี Precision Cancer Medicine จึงเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่เป็นมะเร็ง เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ตรงจุดและเฉพาะบุคคลมากขึ้น ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีและช่วยลดการเกิดผลข้างเคียง

Multidisciplinary Team (MDT)

Multidisciplinary Team หรือ MDT คือการรักษาโรคมะเร็งโดยแพทย์เฉพาะทางหลากหลายสาขาร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยและวางแผนแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมที่สุดให้กับผู้ป่วย

ในทุก ๆ การักษาผู้ป่วยมะเร็ง MDT ของศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลเวชธานี จะทำการแลกเปลี่ยนข้อมูล ระดมความรู้เฉพาะทาง และร่วมประชุมผ่าน Vejthani Tumor Board Conference ทุกสัปดาห์ เพื่อวางแนวทางการรักษาของผู้ป่วยแต่ละรายอย่างเหมาะสม ให้เกิดความแม่นยำ และรวดเร็วในการรักษา โดยจะถกข้อมูลในด้านผลดี ผลเสีย การคาดหวังของการรักษา และการคาดการณ์ถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษา รวมถึงการวางแผนดูแลผู้ป่วยหลังการรักษา และการให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย พร้อมทั้งวางขั้นตอนการรักษาที่สอดคล้องเป็นระบบ เพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยทั้งขณะรักษา และหลังการรักษาเสร็จสิ้น

MDT ประกอบด้วยแพทย์เฉพาะทางในแต่ละสาขาที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งวิทยา และทีมสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลคนไข้ตามความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน ดังนี้

• ประธานคณะกรรมการ MDT ทำหน้าที่บริหารจัดการทีมแพทย์ เพื่อให้การดูแลคนไข้เป็นไปตามแผนการรักษา

• อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา จะเป็นผู้ให้การรักษาทางยาและติดตามผลการรักษา

• ศัลยแพทย์ทั่วไปและศัลยแพทย์เฉพาะทาง ทำหน้าที่ผ่าตัด และวางแนวทางการผ่าตัดที่เหมาะสม

• สูตินรีแพทย์ด้านโรคมะเร็ง ทำหน้าที่ผ่าตัดในผู้ป่วยมะเร็งสตรี เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก

• พยาธิแพทย์ ทำหน้าที่ตรวจและวิเคราะห์ชิ้นเนื้อ

• รังสีแพทย์ด้านการวินิจฉัยภาพรังสี ทำหน้าที่บอกขนาด ตำแหน่ง และระยะของมะเร็ง

• แพทย์รังสีรักษา ทำหน้าที่วางแผนการรักษาทางรังสี หรือการฉายรังสีให้ผู้ป่วย เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด และเกิดผลข้างเคียงจากการฉายรังสีน้อยที่สุด

• วิสัญญีแพทย์ ทำหน้าที่ช่วยลดอาการเจ็บปวดทั้งจากการรักษาหรือจากธรรมชาติของตัวโรคด้วยการให้ยา

• แพทย์โภชนาการและนักโภชนบำบัด ดูแลประเภทของอาหารและสารอาหารที่ควรได้รับ

• พยาบาลชำนาญการด้านการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ดูแลและให้คำแนะนำต่างๆ อย่างรอบด้าน

• จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา คอยดูแลจิตใจและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คนไข้คลายความกังวลและมีพลังใจในการต่อสู้กับโรค

• นักกายภาพบำบัด ออกแบบกิจกรรมและช่วยเหลือผู้ป่วยในการฟื้นฟูร่างกาย

• เภสัชกรผู้ชำนาญการด้านยารักษามะเร็ง จัดยาและออกแบบยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยมะเร็ง

• แพทย์ผู้ชำนาญการด้านพันธุกรรมหรือยีน อ่านค่าการตรวจยีนกลายพันธุ์มะเร็ง รวมถึงดูแลครอบครัวผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

Life Cancer Center

โทร. 02-734-0000 ต่อ 2720

Precision Cancer Medicine